รมว.เกษตรฯ นำทีมผู้บริหาร ร่วมทดสอบการปฏิบัติงานนวัตกรรมรถเกี่ยวข้าวขนาดเล็ก กำชับหน่วยงานกระทรวงร่วมกันพัฒนาต่อยอดเร่งลดทุนการผลิตช่วยชาวนา
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชมการทดสอบการปฏิบัติงานนวัตกรรมรถเกี่ยวข้าวขนาดเล็ก แปลงนาสาธิตของนางอาอีซ๊ะ สลัมสี แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก โดยนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อคิดค้นและพัฒนาโครงการ “นวัตกรรมรถเกี่ยวข้าวแบบเดินตามขนาดเล็ก” ขึ้น โดยใช้ตัวรถของรถไถนาแบบเดินตามทั่วไป ที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด นำมาติดตั้งกับเครื่องยนต์ดีเซลและเพิ่มเครื่องตัดและกลไกสำหรับใช้เกี่ยวข้าวในแปลงนา ซึ่งเหมาะสำหรับแปลงนาประเภทที่ราบลุ่ม ข้าวล้มราบเรียบถึงข้าวตั้ง รวมไปถึงพืชการเกษตรอื่น ๆ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ทำให้เกษตรกรสามารถทำงานได้คนเดียว ข้าวที่ตัดได้นำมาตากเพียงแดดเดียวก็สามารถเข้าไปโรงสีได้ ตอซังข้าวมีขนาดสั้น เกษตรกรไม่ต้องเผา ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ นอกจากนี้ รถเกี่ยวข้าวยังมีขนาดเล็ก ทำให้ประหยัดต้นทุน ประหยัดแรงงาน และสามารถนำไปใช้เอนกประสงค์กับต้นหญ้าหรือตัดหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือเพิ่มชุดโรตารี่สำหรับการเตรียมพื้นที่นาได้อีกด้วย ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง
จากการดูการสาธิตเบื้องต้นพบว่าสามารถเกี่ยวข้าวได้เพียง1ไร่/1ชม.โดยวามรถต่อจอดในการพัฒนาได้จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันศึกษาและพัฒนาเครื่องเกี่ยวข้าวแบบเดินตามให้สามารถเกี่ยวข้าวได้ 2 – 3 ไร่/ชม. ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนที่เป็นค่าแรงในการเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรได้มากถึง 7 – 10 เท่า สำหรับในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวก็ควรมีการปรับตัวในการทำนาแบบดั้งเดิม ให้หันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดต้นทุนให้มากยิ่ง โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปช่วยในเรื่องการนำผลการศึกษาวิจัย เข้าไปช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

สำหรับแปลงนาข้าวที่ใช้สาธิตนวัตกรรมรถเกี่ยวข้าวในครั้งนี้ เป็นแปลงนาของเกษตรกรในพื้นที่คลอง 12 เขตหนองจอก ที่ทำนาปีล่าช้า เนื่องจากในช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ ทำให้ไม่สามารถทำนาปีได้ตามปกติ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน จึงได้มอบหมายให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ เข้าไปช่วยเหลือด้วยการส่งน้ำเข้าคลองชลประทานที่รับน้ำจากคลองระพีพัฒน์ พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณประตูระบายน้ำ (ปตร.) กลางคลอง 8 – 9 และ ปตร.ปากคลอง 13 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลำเลียงน้ำ รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณ ปตร.พระธรรมราชา (ใหม่) สามารถช่วยเหลือพื้นที่ทำนาปีล่าช้าได้ โดยไม่มีผลผลิตเสียหาย ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่มีการทำการเกษตรประเภทนาข้าว (นาล่าช้า) จำนวน 310,473 ไร่ ซึ่งจะเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงปลายเดือนม.ค.จนถึงกลางเดือน ก.พ.
อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้งนี้อยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องสำรองไว้ใช้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ทำให้ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาปรังได้ จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า