ชลบุรี-ประธานคณะทำงานพัฒนาบุคลากร EEC HDC อวยพรปีใหม่ผู้ประสานงาน ชี้ 3 ทาง ฝ่าวิกฤติ โควิด 19

สวัสดีปีใหม่ ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านพัฒนาบุคลากร ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) มอบของขวัญปีใหม่ แก่ นายวิเชษฐ์ เกตุแก้ว ผู้ประสานงานในพื้นที่และชุมชน

 

 

เมื่อ 6 ม.ค.64 ณ.อาคารสำนักงาน EEC HDC ชั้น 4 คณะเภสัชศาสตร (ตึกเก่า) มหาวิทยาลัยบูรพา เนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานฯ (EEC HDC ) มอบเรือสำเภา เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ นายวิเชษฐ เกตุแก้ว และ พบปะพูดคุยถึง นโยบายและทิศทางในอนาคต ของ อีอีซี ในปี 2564 โดย ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานฯ (EEC HDC ) ชี้ 3 ข้อสรุป ฝ่าวิกฤตโควิดในการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับงานแห่งอนาคต EEC HDC สู่ความสำเร็จเพื่อพัฒนาบุคลากรรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศยุคใหม่ สร้างความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้และทักษะ ตรงกับ Future of work หรืองานแห่งอนาคต จับตา ปี 2564-2565 ผลผลิตบุคลากรที่มีทักษะไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมต่างๆ แบบก้าวกระโดด


ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานพัฒนาบุคลากรและการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC กล่าวว่า คณะทำงาน EEC HDC ดำเนินงานภายใต้จุดมุ่งหมายที่จะพัฒนา EEC ในมิติต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์ โดยรวมของประเทศและของโลก ที่ซับซ้อนและผันผวนยิ่ง ด้วยเป้าหมายของ HDC ที่ชัดเจน แน่วแน่ที่จะสรรค์สร้างประโยชน์ให้สังคม โดยมุ่งพัฒนากำลังคนและบุคลากร ตอบสนองการพัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งตั้งแต่เริ่มทำงานก็เป็นช่วงที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ทันโลก เพื่อลดผลกระทบจาก 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงในด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geo-Politics) 2. การเปลี่ยนแปลงในด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geo-Economics) และ 3.การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัล มีบทบาทสำคัญจนเข้ามาทดแทนระบบอนาล็อก และอยู่ในภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนเข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจ ที่ไม่ปรับตัวจนต้องล่มสลายไป ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศยุคใหม่ ต้องใช้ความเข้าใจ รู้จักปรับตัว และปรับ mindset ใหม่ เพื่อดึงหรือสร้างศักยภาพบุคลากรที่เหมาะสมกับบริบทใหม่ของโลก


ดร.อภิชาต กล่าวต่อว่า คณะทำงานจะขับเคลื่อนแผนงานร่วมกันเป็นเครือข่าย อาทิ ร่วมยกระดับการศึกษา การฝึกอบรมทักษะ กำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ เอาไว้ แต่ในระหว่างการดำเนินงานกลับเจอวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาดซ้ำ ทำให้เกิดความโกลาหลในบางขณะ แต่ไม่ว่าจะวุ่นวายติดขัดสักเพียงใด คณะทำงานที่อยู่ ‘หน้างาน’ ก็ยังคงชัดเจนที่จะเดินหน้าไปยังจุดหมาย “ช่วงเริ่มต้นเราเข็นงานด้านนี้ร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ อย่างน้อยเราก็ได้เปลี่ยน ‘แบบแผนการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา จาก supply เป็น demand’ และมีการกำหนดรูปแบบการทำงานร่วมกันที่เรียกว่า ‘การศึกษาแบบ EEC model’ ซึ่งประกอบด้วย Type A คือแบบเรียนฟรี จบแล้วมีงานทำ มีรายได้สูง กับ Type B การฝึกอบรมพัฒนาทักษะและความรู้ระยะสั้น ที่รัฐช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีมาตรการการพัฒนายกระดับทักษะบุคลากรร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการ ที่รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนอีกหนึ่งมาตรการ โดยมีภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา เป็นผู้ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรให้”


ดร.อภิชาต กล่าวอีกว่าการทำงานในช่วงแรกนั้น ถ้าพิจารณาเรื่อง Stage of Change จากความเคลื่อนไหวของงานจะพบว่าคณะทำงาน EEC HDC มีการปรับตัวอย่างก้าวกระโดด จากกลุ่มที่เข้ามาทำงานร่วมกันซึ่งต่างก็เคยชินกับการทำงานรูปแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบระเบียบราชการ วิธีคิด กองตำราหรือเอกสาร รูปแบบการเรียนการสอน ตลอดจนวิธีพัฒนาบุคลากร แต่หลังจากฉายภาพให้เข้าใจโลกที่เปลี่ยนไป ปรับจูน mindset การทำงาน ทำให้การดำเนินงานร่วมกันมีทิศทางใหม่ที่ชัดเจนและสอดรับไปกับโลกแวดล้อม ถัดจากการปรับ mindset ก็เข้าสู่การปรับรูปแบบการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาที่มีตัวเลข ‘ติดลบ’ สู่การจัดการใหม่ด้วยแบบแผนใหม่ วิธีคิดใหม่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการศึกษาผลิตบุคลากรออกมาแล้วไม่ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม คนตกงาน ทำให้เกิดความสูญเปล่าทางการศึกษา จึงเปลี่ยนแนวทางใหม่ มุ่งสร้างผลลัพธ์โดยรวมเชิงบวกให้เกิดขึ้นตามทิศทางที่ World Economic Forum พูดถึงอุตสาหกรรม 4.0 ว่า

โลกการทำงานยุคใหม่ ผู้คนต้องเข้าใจถึงการเติบโตและศักยภาพของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปและมีพลวัตอยู่เสมอ เมื่อเข้าใจก็จะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรและการศึกษาที่ตรงกับความต้องการในอนาคต ด้วยการการยกระดับทักษะและองค์ความรู้ให้ผู้ฝึกอบรมหรือผู้เรียนก้าวพ้นจากการทำงานแบบเดิมๆ ไปสู่ทักษะใหม่ที่ตรงกับ Future of work หรืองานแห่งอนาคต
“ผมเคยคุยกับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ EEC ว่าในช่วงเวลาปีกว่า เราได้ขับเคลื่อนงานมาได้ไกลทีเดียว แต่ก็ยังเหลือทางอีกไกลมากที่จะต้องเดินต่อไป ซึ่งแนวปฏิบัติเพื่อการเชื่อมต่อกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ 4.0 คือการมุ่งพัฒนาทักษะ ประสบการณ์ และความรู้ในทิศทางที่อุตสาหกรรมต้องการ กอปรกับนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน ซึ่งนอกจากจะปรับระบบความคิด ระบบการทำงานร่วมกันแล้ว ยังต้องอาศัยการปรับระบบระเบียบทั้งภาคอุตสาหกรรมและการศึกษาให้ดำเนินงานพัฒนาบุคลากรร่วมกันแล้วมีประสิทธิภาพ วัดผลได้ และที่สำคัญต้องหลอมรวมการพัฒนาบุคลากรให้เป็นทิศทางเดียวกับการพัฒนาประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม โดย ดร.คณิศ ได้กล่าวให้กำลังใจเครือข่ายที่ทำงานร่วมงานกับ HDC ด้วยประโยคสั้นๆ ว่าเรามาถูกทางแล้ว”


เส้นทางแห่งการยกระดับบุคลากรแบบ EEC HDC ที่กล่าวมานี้ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด และมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ คือ Passion & Move on คือให้แพสชั่นสร้างคน สร้างงาน เพื่อพัฒนาบุคลากรจำนวน 4.7 แสนคน ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หากนำตัวเลขผู้สำเร็จการศึกษาในระบบปกติมาเทียบดู จะเห็นว่าจำนวนบุคลากรที่ผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการเป็นแน่ แต่ถ้าต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมจริง ต้องอาศัยแรงขับด้าน Passion ของเครือข่าย HDC และมุ่งมั่นที่จะ Move on ไปด้วยกัน
“แม้วันนี้การทำงานต้องสะดุดอีกครั้งเพราะปัญหาโควิด แต่หากนับบุคลากรต้นแบบที่ผลิตได้ถึงปี 2563 มีผู้สำเร็จการศึกษา Type A รวมแล้วกว่าหมื่นคน และ Type B ในช่วงสิ้นปี 2564 อีกประมาณ 5 หมื่นคน เป็นจุดเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประเด็นนี้ไม่นับรวมการปรับตัวของสถาบันการศึกษาเข้าสู่ทิศทางการศึกษารูปแบบใหม่”
สำหรับภาพรวมในปี 2564 -2565 เป็นช่วงของการจัดระบบ ขับเคลื่อนอย่างมีแบบแผนและมีเป้าหมายชัดเจน หลังจากนั้นก็จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ประจักษ์ชัด เพราะผลผลิตที่เป็นบุคลากรมีทักษะไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมต่างๆ แบบก้าวกระโดด สิ่งที่ EED HDC ต้องทำต่อยังมีอีกมาก อาทิ การสร้างความร่วมมือกับอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การตอบสนองการลงทุนด้านบุคลากรของภาคอุตสาหกรรมที่มีมากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่คนอยู่หน้างานเห็นความต้องการได้ชัดเจนที่สุด และรู้ว่าการขับเคลื่อนงานพัฒนาบุคลากรของ HDC นั้นเดินไปได้ตามเป้าหมายได้อย่างมั่นคงเพียงใด โดยได้รับความร่วมมือที่ดีจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาฯ กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน BOI กรมสรรพากร และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของ EEC Net ซึ่งวันนี้มีการจัดตั้งแล้ว 6 ศูนย์ฯ เพื่อเป็นกลไกสำคัญอีกกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนความก้าวหน้า เพิ่มศักยภาพบุคลากรในเชิงลึก ด้วยการพัฒนาความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของทุกภาคส่วน ทั้งในด้านการขจัดปัญหาหน้างาน ด้านตัวบทกฎหมาย ด้านการสร้างผลกระทบเชิงบวก ด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
“ท่ามกลางความโกลาหลจากวิกฤตการณ์ต่างๆ การให้กำลังใจกัน ทุ่มเทกายใจและสติปัญญาร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ ตราบใดที่เรายังเดินไปด้วยกัน หนักบ้างเบาบ้างให้ถือเป็นภารกิจและความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เพื่อความสำเร็จในภายภาคหน้า และในปีที่เราจะต้องร่วมกันฝ่าสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนงานพัฒนาบุคลากรและการศึกษาในเครือข่าย EEC HDC ก้าวผ่านทุกอุปสรรคได้อย่างมั่นคงแข็งแกร่ง” ดร.อภิชาต กล่าวปิดท้าย

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน 0909535645

Related posts