ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าลุกขึ้นทวงสิทธิผู้บริโภค ขอโอกาสเข้าถึง” ทางเลือก” ที่ลดการได้รับสารอันตรายจากการเผาไหม้ยาสูบ ( tobacco harm reduction หรือTHR) ชี้ยังมีสองประเด็นหลักที่เป็นอุปสรรคในหลายประเทศ นั่นคือ ปัญหาการใช้กฎหมายห้ามแบบเบ็ดเสร็จ ที่ยังสร้างช่องโหว่ที่สวนทางกับการแก้ปัญหาที่แท้จริง และปัญหาการปิดกั้นและไม่ยอมรับข้อมูลที่สนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ผสมสารนิโคตินแบบไอระเหยหรือบุหรี่ไฟฟ้า
“เราเป็นผู้บริโภค ไม่มีทุนหนุนหลังอะไรมากมาย แต่เราสู้เพราะมันคือสิ่งที่ดีต่อสุขภาพของพวกเราผู้เคยสูบบุหรี่ และเราอยากให้บุหรี่ไฟฟ้าได้เป็นทางเลือกให้กับผู้สูบบุหรี่ที่เจอปัญหาเดียวกับเรา” จากานัธ ซารางกาปานี (Jagannath Sarangapani) ผู้อำนวยการสมาคมผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอินเดีย (Association of Vapers India – AVI) กระบอกเสียงชาวบุหรี่ไฟฟ้าจากอินเดีย กล่าว ในงานสัมมนาออนไลน์ วอยซ์ฟอร์เวป (Voices4Vape) ซึ่งจัดโดย เครือข่ายผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกเอเชียแปซิฟิก หรือ คาฟ-ฟรา (The Coalition of Asia Pacific Tobacco Harm Reduction Advocates- CAPHRA) เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ชี้ให้สังคมยอมรับความจริงว่า การเลิกบุหรี่ของผู้เสพติดบุหรี่นั้นเกิดขึ้นโดยลำพังยากมาก แต่ทางที่ช่วยได้คือการเข้าถึงทางเลือกที่ลดการได้รับสารอันตรายต่อสุขภาพ และชี้ให้ฝ่ายกำหนดนโยบายพิจารณาวิธีการจัดการที่ไม่จำกัดทางเลือก ซึ่งเป็นเสมือนการทอดทิ้งผู้บริโภคที่ประสบปัญหานี้อยู่
รัฐบาลอินเดียประกาศห้ามจำหน่าย, นำเข้า, ผลิต และโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา ในขณะที่ตัวเลขผู้สูบบุหรี่ในประเทศยังสูงถึง 110 ล้านคน และพบว่าผู้ที่ใช้แผ่นแปะนิโคติน หรือหมากฝรั่งผสมนิโคตินเพื่อการเลิกบุหรี่ไม่ประสบผลสำเร็จ มีแนวโน้มกลับไปสูบบุหรี่แบบเดิม
อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอินเดีย รวมตัวกันลงชื่อยื่นจดหมายเรียกร้องให้พิจารณายกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้า ต่อ 4 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบในประเทศ รวมทั้งมีกิจกรรมให้ข้อมูลข่าวสารอีกด้านถ่ายทอดประสบการณ์จริงของผู้บริโภคผ่านช่องทางยูทูบ สามารถสร้างความเข้าใจและเห็นใจจากสื่อกระแสหลักและการยอมรับฟังจากตัวแทนภาครัฐมากขึ้น
ขณะที่ออสเตรเลีย กฎหมายอนุญาตให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้เฉพาะผู้ที่มีรับรองจากแพทย์เท่านั้น แต่ข้อมูลงานวิจัยบ่งชี้ว่าหากยังมีการจำกัดการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป แนวโน้มของผู้ยังเลิกบุหรี่ไม่ได้ จะหวนกลับไปสูบบุหรี่แบบมวนอีก ซึ่งเป็นอันตรายกับสุขภาพของผู้สูบมากกว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้า
จากจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในออสเตรเลีย 6,733 คน ที่เข้าร่วมงานวิจัย พบว่า กว่า 42 เปอร์เซนต์ เลือกจะกลับไปสูบบุหรี่ และ อีก 37 เปอร์เซนต์ ที่ยังต้องการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีความกังวลว่าพวกเขาต้องซื้อหาในตลาดมืดแทน และมีเพียง 7 เปอร์เซนต์ที่สนับสนุนนโยบายอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะคนที่มีใบรับรองแพทย์เท่านั้น
ด้านนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ยกเลิกการแบนและออกกฎหมายอนุญาตควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์ผสมสารนิโคตินแบบไอระเหย และกลายมาต้นแบบของแนวทางการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ที่อยากเห็นรัฐบาลของตัวเองยึดแนวทางของนิวซีแลนด์เป็นแบบอย่าง เพื่อรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยกว่าให้กับผู้สูบบุหรี่
การต่อสู้เรียกร้องของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนิวซีแลนด์เริ่มที่กลุ่มเล็กๆ ในเมืองเวลลิงตัน ตั้งแต่ปี ค.ศ 2015 ก่อนจะกลายเป็นกระแสทั่วประเทศ เน้นการสร้างความเข้าใจและเห็นใจกันบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนแนวทางลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับตัวแทนภาครัฐด้านสาธารณสุขตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับเจ้ากระทรวงสาธารณสุข พร้อมชี้ให้เห็นหลักฐานจากการปฏิบัติจริง และข้อมูลที่รองรับด้วยวิทยาศาสตร์ จนในที่สุด รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศใช้กฎหมายอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย ในปี 2018 โดยมีมาตรการควบคุมอย่างเหมาะสม เพื่อเปิดทางสู่การบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศปลอดควันบุหรี่ภายในปี 2025
“ในฐานะผู้บริโภคที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายเหล่านี้ เราควรมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง แต่รัฐบาลของหลายๆ ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ยังกีดกันผู้บริโภคออกจากการดำเนินงานโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมยาสูบทั้งในระดับประเทศและระดับโลก และยังตัดสินใจกำหนดนโยบายเพื่อสุขภาพของพวกเราจากมาตรวัดที่ลำเอียงของพวกเขาเอง” ตัวแทนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เข้าร่วมการประชุมฯ กล่าว
………………………………..
ที่มา
-งานเสวนาออนไลน์ วอยซ์ฟอร์เวป(Voices4Vape) เผยแพร่ผ่านช่องยูทูป @CAPHRA Asia Pacific https://www.youtube.com/watch?v=KPE4FXpL8E0&t=1546s เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 จัดโดย กลุ่มพันธมิตรตัวแทนผู้ใช้ทางเลือกลดสารอันตรายจากการเผาไหม้ยาสูบในแถบเอเชียแปซิฟิก หรือ คาฟ-ฟรา (The Coalition of Asia Pacific Tobacco Harm Reduction Advocates- CAPHRA)
-ข้อมูลเพิ่มเติมจาก