เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเอเชียแปซิฟิก รวมตัวเรียกร้อง WHO และรัฐบาลนานาชาติ ผลักดันทางออก “ลดละเลิกบุหรี่” ที่เหมาะสม ในระดับนโยบาย
ในอีก 5 ปีข้างหน้า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่า จะมี 1 พันล้านคนทั่วโลกที่ยังคงเป็นผู้เสพติดสารนิโคตินจากบุหรี่ ซึ่งทุกวันนี้ คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้โดยเด็ดขาดหรือเฉียบพลัน แต่การดำเนินชีวิตที่รับผิดชอบต่อสุขภาพตัวเองและของผู้อื่น โดยการมองหาทางเลือกเพื่อลดสารอันตรายจากการเผาไหม้ยาสูบ ( tobacco harm reduction หรือTHR) ที่มีความเป็นไปได้ กลับพบอุปสรรคในการเข้าถึงทางเลือกเหล่านั้น ทั้งข้อจำกัดทางกฎหมายที่เข้มงวดเบ็ดเสร็จ และการปิดกั้นไม่รับฟังข้อมูลความรู้อีกด้านที่มาจากฝั่งตรงข้าม
งานเสวนาออนไลน์ วอยซ์ฟอร์เวป(Voices4Vape) ซึ่งจัดโดย เครือข่ายผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกเอเชียแปซิฟิก หรือ คาฟ-ฟรา (The Coalition of Asia Pacific Tobacco Harm Reduction Advocates- CAPHRA) จึงเป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้บริโภคที่ประสบปัญหาและนักเคลื่อนไหวจากประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกเพื่อผลักดันและกระตุ้นให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ พิจารณาถึง” ทางเลือก” ในการเข้าถึงข้อมูลความรู้และผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ลดการได้รับสารอันตรายจากการเผาไหม้ยาสูบ (tobacco harm reduction หรือTHR)
“การใช้นิโคตินมีความเสี่ยงต่อร่างกายแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าใช้ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป และใช้ในรูปแบบที่ไม่มีการเผาไหม้ มันก็พอจะรับได้ เรื่องนี้สำคัญมากที่ต้องให้คนทั่วไปเข้าใจ” อีเลียนา รูบาสกิน ( Eliana Rubashkyn) เภสัชกร นักเคมี และนักเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชน จากนิวซีแลนด์ กล่าว
“การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารนิโคตินที่เป็นไอระเหย รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่แบบเผาไหม้ 95 เปอร์เซ็นต์ มีหลักฐานมากมายยืนยันตรงกันว่าสารอื่นๆ ที่พบในควันบุหรี่ เช่น ทาร์ (Tar) มีอันตรายต่อสุขภาพร้ายแรง ขณะที่นิโคตินไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของการเกิดมะเร็ง แต่ก็เป็นสารเสพติดที่เลิกได้ยาก การพิจารณาให้มีการจัดการอย่างเหมาะสม น่าจะเป็นประโยชน์กว่าการห้ามใช้โดยเด็ดขาด”
สเตฟฟานี ธิวเซน (Stephanie Thuesen) ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า จากเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เป็นอีกรายที่เล่าประสบการณ์ส่วนตัวของการเลิกบุหรี่ และเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ผสมสารนิโคตินที่ลดการรับสารก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพลง เผยว่า ออสเตรเลียมีตัวเลขคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือก ราว 5 แสนคนเป็นอย่างน้อย และหลายเดือนที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในออสเตรเลียได้ออกมาเรียกร้องสิทธิผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือเป็นการแสดงพลังของคนจำนวนมากในช่วงที่มีโควิดระบาดและประชาชนถูกจำกัดสิทธิในการออกออกนอกบ้าน
สำหรับประเทศไทย นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือ ECST ได้เผยในวงเสวนา Voices4Vape ว่า ทางเลือกของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยยังถูกปิด ด้วยกฎหมายแบนเด็ดขาด ซึ่งหน่วยงานควบคุมยาสูบภาครัฐ เป็นกลุ่มหลักที่ยืนกรานการแบนบุหรี่ไฟฟ้า โดยไม่ยอมรับฟังข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และความรู้อื่นๆที่เป็นด้านบวก และยืนยันที่จะตีความข้อมูลวิจัยที่เป็นด้านลบเท่านั้น
“ยกตัวอย่างถ้ามีงานวิจัย 9-10 ชิ้น แน่นอนทุกอย่างมันมีทั้งด้านบวกด้านลบ แต่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาในประเทศก็จะเป็นด้านลบเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า และก็มองข้ามงานวิจัยที่ชี้ถึงด้านบวกของการใช้มันไปอย่างสิ้นเชิง” นายอาสากล่าว และเผยถึงสถานการณ์ในไทยที่ทางกลุ่ม ESCT ได้ออกมารณรงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้มีทางเลือกที่เป็นจริง แต่ก็ยังมีผู้ใช้อีกหลายแสนคนที่ยังไม่กล้าออกมาร่วมผลักดันการปลดล็อคทางกฎหมาย
“(ไทย) เรามีคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างน้อย 5 แสนคนในประเทศไทย และก็มีบางส่วนออกมาร่วมเรียกร้องกับทางกลุ่มเรา แต่มันก็ยังไม่มีพลังมากพอ ก็ถือว่าไทยยังยากอยู่ ต่างจากบางประเทศที่ผู้ใช้เขารวมตัวกันได้และออกมาเดินขบวนเรียกร้อง หรือรวมกลุ่มกันแสดงพลัง เสนอข้อเรียกร้อง ซึ่งคนไทยยังกลัวการถูกจับไม่ค่อยออกมาร่วมเท่าไร ในส่วนของกลุ่มเราก็ได้มีการคุยกับตัวแทนฝ่ายรัฐหลายคน ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของเรานะ และมองว่าน่าจะยกเลิกการแบน ซึ่งก็ยังคงต้องรอความคืบหน้าไปอีก” นายอาสา กล่าว
ด้าน ซัมราต ชาวเดอรี ( Samrat Chowdhery ) ตัวแทนจากกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจากอินเดีย (Association of Vapers India) และประธานองค์กรเครือข่ายนิโคนิตินสากล (International Network of Nicotine Consumer Organisations หรือ INNCO) เผยว่า WHO ประเมินตัวเลขผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกจะยังมีสูงกว่า 1พันล้านคน ในช่วง 5 ปีข้างหน้า แต่นโยบายการสร้างสังคมปลอดบุหรี่กลับไม่มีความก้าวหน้า เพราะยังยึดติดกับ “การแบนเด็ดขาด” พ้องกับความเห็นของ ไคลฟ์ เบตส์ (Clive Bates) อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งผันตัวมาเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือก ได้ชี้ให้เห็นผลกระทบแง่ลบในการดำเนินนโยบายขององค์การอนามัยโลกและองค์กรต่อต้านบุหรี่ ที่เน้นหนักไปที่ “การห้ามผลิตภัณฑ์ทางเลือกเด็ดขาด” ว่าเป็นการปกป้องผู้ผลิตยาสูบแบบเผาไหม้ และเปิดช่องให้เกิดการค้าขายผลิตภัณฑ์ผสมสารนิโคตินทางเลือกอื่นๆ ในตลาดมืด มากกว่าเอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคแท้จริง
แนนซี ลูคัส ผู้ประสานงาน CAPHRA ได้ย้ำถึงการเรียกร้องครั้งนี้เป็นสิทธิที่ชอบธรรม ว่า “ตัวแทนผู้บริโภคออกมาสู้ ก็เพื่อให้ผู้เสพติดบุหรี่วัยผู้ใหญ่นับล้านในแถบเอเชียแปซิฟิกมีทางเลือกในการใช้ผลิตภัณฑ์ผสมสารนิโคตินที่มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่เผาไหม้ยาสูบ เรารู้ว่ามันเป็นการเข็นครกขึ้นภูเขา แต่เรารู้ว่าเรากำลังต่อสู้ในทางที่ถูกต้อง”
นอกจากจะเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้สูบบุหรี่และผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้ว การเคลื่อนไหวนี้ยังเป็นการสนับสนุนแนวคิดให้รัฐพิจารณานโยบายที่จะนำไปสู่การลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ที่รับฟังความคิดเห็นของผู้เห็นต่าง ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีตัวอย่างจากต่างประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส สวีเดน นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ญี่ปุ่น และล่าสุด ฟิลิปปินส์ ที่เปลี่ยนการแบนมาเป็นการควบคุมอย่างเหมาะสม
เดวิด สวีนเนอร์ นักวิชาการ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการศูนย์นโยบาย กฎหมายและจรรยาบรรณด้านสุขภาพ แห่งมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ออฟออตตาวา แคนาดา ชี้ว่าผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อลดอันตรายจากยาสูบมีหลักฐานยืนยันผลลัพธ์ของการลดอันตรายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ได้อย่างชัดเจนในหลายประเทศ “เราเห็นตัวอย่างจากทั่วโลกแล้วว่า อัตราการเลิกสูบบุหรี่แบบมวนลดลงอย่างมากในหลายประเทศที่เปิดให้มีทางเลือก”