ผู้ตรวจการฯ แนะภาครัฐฟังเสียงประชาชน กรณีการแบนบุหรี่ไฟฟ้า

เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าเผย สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แนะหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องฟังเสียงประชาชน และมีความเป็นกลาง ฟังเหตุผลจากทุกฝ่าย หลากมิติและรอบด้าน กรณีเรื่องร้องเรียนแบนบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นธรรม

 


เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายอาสา ศาลิคุปตและนายมาริษ กรัณวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และแอดมินเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ได้เข้าร่วมการประชุมที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งมีการพิจารณาข้อร้องเรียนกรณีการห้ามขายและห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เข้าร่วมการประชุม โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์มีมติยืนยันคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไว้เช่นเดิม อ้างรายงาน ศจย. เมื่อต้นปี ท่ามกลางข้อกังขาของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบ

นายอาสา ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า “การแบนบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยกว่า และการได้รับข้อมูลการวิจัยที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เราจึงได้ยื่นขอความเป็นธรรมจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งเราคาดว่ามีกว่า 5 แสนคนในประเทศ รวมทั้งผู้สูบบุหรี่อีก 11 ล้านคนที่กำลังมองหาทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่าเพื่อทดแทนการสูบบุหรี่ เรารู้สึกดีใจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยังเป็นสถาบันที่เป็นที่พึงให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นกลาง โปร่งใส เป็นธรรม และพิจารณาแก้ไขปัญหาอย่างประณีประนอม และที่สำคัญคือการเน้นการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งพวกเราถือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแบน”

“ผลการศึกษาวิจัยจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐ ยุโรปหลายประเทศ สรุปตรงกันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษที่อันตรายน้อยกว่า ซึ่งเราพยายามนำข้อมูลนี้เสนอให้กับ พณ. และ สธ. มาตลอด แต่ข้อมูลเหล่านี้กลับไม่เคยถูกนำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้า ก่อนหน้านี้ คณะทำงานของกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ ศจย. ทำการศึกษาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า แต่ผลการศึกษาที่ออกมากลับยืนยันว่าการแบนเหมาะสมแล้ว โดยไม่ได้มีการนำข้อมูลจากฝั่งที่สนับสนุนเข้าไปประกอบการทำการศึกษาเลย อีกทั้งกีดกันการมีส่วนร่วมของผู้ร้องเรียน ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของการพิจารณาออกกฎหมาย และการศึกษาผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เพราะ 5 ปีผ่านไป ประเทศชาติและคนไทยไม่ได้อะไรดีขึ้นเลย”

นายมาริษ ตัวแทนเครือข่ายฯ อีกรายกล่าวเสริมว่า “การแบนบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยสวนทางกับแนวทางของต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับผลวิจัยและแนวทางทางวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่าง ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้มีการพิจารณามาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ทางเลือก รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้า โดยเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และนำผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่มีทั้งข้อดี-ข้อเสียทั้งเรื่องสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ เข้ามาเป็นข้อมูลในกระบวนการพิจารณาด้วย ซึ่งจะถูกจะผิดอย่างไร สังคมควรได้ทราบข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นจริง ไม่ใช่การบิดเบือนรายวันเหมือนทุกวันนี้”

บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าห้ามนำเข้าและจำหน่ายในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2557 และห้ามขายและห้ามบริการ ตามประกาศ สคบ. ปี 2558 แต่ปัจจุบันยังพบผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากว่า 5 แสนราย ที่ลักลอบซื้อขายผ่านช่องทางที่ผิดกฎหมาย เช่น ตลาดใต้ดิน หรือร้านค้าออนไลน์ คิดเป็นมูลค่าตลาดมากกว่า 6 พันล้านบาทต่อปี รัฐไม่สามารถเก็บภาษีเป็นรายได้เข้ารัฐ สร้างภาระให้กับหน่วยงานรัฐที่ต้องดำเนินการกวาดล้างจับกุม อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสับสนให้กับสังคมเกี่ยวกับศักยภาพของบุหรี่ไฟฟ้า ทุกวันนี้ บุหรี่ไฟฟ้าขายกันเกลื่อน รัฐควบคุมไม่ได้ เปิดโอกาสให้มีการรีดไถโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงของเยาวชน แถมยังมีแนวโน้มการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“เราขอขอบคุณผู้ตรวจการแผ่นดินที่เป็นความหวังของประชาชนและให้โอกาสเครือข่ายฯ ได้ชี้แจงข้อมูลและเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาหารือกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและหาทางออกร่วมกันอย่างเหมาะสม เราเชื่อว่านโยบายที่ดีต้องไม่จำกัดสิทธิผู้ใหญ่ที่ต้องการเข้าถึงทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่า ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ 60 กว่าประเทศทั่วโลกใช้ในการควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมาย เราหวังว่าคณะทำงานของกระทรวงพาณิชย์และการทบทวนรายงานของ ศจย ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จะมีความเป็นกลางและคำนึงถึงผลต่อคนทุกกลุ่มด้วย”

Related posts